ช่างประจำบ้าน

ติดสวิทซ์แรงดันปั้มน้ำใช้กับการเกษตร(pressure switch)
การติดตั้งสวิทซ์แรงดันปั้มน้ำให้กับปั้มหอยโข่ง เพื่อให้เป็นปั้มน้ำอัตโนมัติ โดยไม่ต้องใช้ถังแรงดัน สำหรับใช้ในงานเกษตร ไม่ค่อยเหมาะสำหรับใช้ในบ้านเรือน
1 ปั้มน้ำ
ดูที่ฉลากปั้มน้ำว่าระบุระยะส่งน้ำสูงสุดว่ากี่เมตร สลากปั้มน้ำจะระบุแรงดันส่งสูงสุดว่ากี่เมตร  (Head max = …….M) สูบกับส่งต่างกันนะครับ สูบคือระดับน้ำในบ่อที่จะสูบขึ้นมา ส่วนส่งคือสูบมาแล้วจะส่งไปได้สูงเท่าไหร่ ส่วนอัตราการไหลว่ากี่ลิตรต่อนาที(L/min)ก็ดูความเหมาะสมสำหรับการใช้งาน เผื่อไว้หน่อย ปั้มที่มีเพลาเป็นสแตนเลสจะมีอายุการใช้งานที่ยืนยาวกว่าเพลาแกนเป็นเหล็ก
แล้วเทียบหน่วยดังนี้คือ 10 เมตร (m) = 1 บาร์(bar) = 1 กก/ตร.ซม.(Kg/cm2) =14.5 ปอน์ด/ตร.นิ้ว(psi)(โดยประมาณ) 

ข้อต่อทองเหลืองกับเกลียวพีวีซี(ลดเหลี่ยม)จะรั่้วได้ง่าย(ใส่เข้ากันทีไร รั่วทุกที)  อาจเปลี่ยนเป็นข้อต่อทองเหลืองกับเกลียวเหล็กจะดีกว่า

 


2 เลือกสวิทซ์แรงดัน
สวิทซ์แรงดันจะมีแบบกลม ปรับตั้งไม่ได้ กับแบบสี่เหลี่ยม ปรับตั้งได้ สวิทซ์ต้องสัมพันธุ์กับปั้มน้ำที่ท่านมีอยู่ จะระบุโวลท์(V)  แอมป์ (A) ซึ่งสวิทซ์จะต้องสามารถทนได้ กับระบุระดับแรงดันใช้งาน โดยประมาณ แรงดันใช้กับงานเกษตรรดน้ำด้วยสายยาง 1-2 บาร์ ใช้กับสปริงเกอร์ มักต้องการแรงดัน 2- 4 บาร์ ดูปั้มน้ำด้วยนะครับ เช่น ปั้มน้ำบางตัวส่งได้สูงแค่10 เมตร ก็ใช้ 0.5-0.8 บาร์ก็พอ หากใช้สวิทซ์ 2-4 บาร์ไม่ช่วยให้แรงดันสูงขึ้น และใช้งานไม่ได้ด้วย
3 ต่อท่อน้ำด้วยสามทางแยกท่อน้ำขนาดประมาณ 1 นิ้ว แยกตั้งขึ้นมาสูงประมาณ 1.2-1.5 เมตรและทำเสาหลักผูกยึดไม่ให้ท่อล้ม

4 ติดตั้งสวิตท์ที่ปลายท่อที่แยกตั้งขึ้นมานี้ (โดยไม่ต้องกรอกน้ำใส่) หลักสำคัญคือในท่อตั้งนี้จะมีน้ำอยู่หรือไม่มีก็ได้ แต่น้ำจะต้องขึ้นไม่ถึงตัวสวิทซ์ จะมีน้ำอยู่ในท่อตั้งนี้บ้างก็ไม่เป็นไร แต่ไม่มีน้ำอยู่จะดีกว่า คือเมื่อขันเกลียวสวิตท์เข้ากับท่อแล้วที่ว่างในท่อจะมีอากาศ อากาศจะเป็นตัวอัดแรงดันสวิตซ์ไม่ใช่น้ำ ถ้าสวิตท์เปิดปิดรัวถี่ยิบ สาเหตุหลักมักจะเกิดจากการขันเกลียวไม่แน่นและอากาศรั่วจนน้ำขึ้นถึงสวิทซ์
5 ติดตั้งสายไฟปั้มน้ำและสวิทซ์ตามคู่มือ
6 ทดสอบปั้มน้ำและสวิทซ์
   สวิทซ์แบบกลม จะปรับตั้งไม่ได้ก็ทดลองใช้งานได้เลย ส่วนสวิทซ์แบบสี่เหลี่ยม ปรับตั้งได้ จะตั้งมาจากโรงงานค่าหนึ่ง ทดลองใช้ดูก่อนว่าใช้ได้ตามต้องการหรือไม่ ถ้าใช้ไม่ได้ก็ต้องปรับตั้งตามคู่มือสวิตทซ์ คู่มือมักไม่มีภาษาไทย โดยทั่วไปคายน็อตสปริงทั้งสองตัวให้เกือบสุด ขันน็อตที่สปริงตัวใหญ่เข้าเพื่อให้ปั้มทำงาน (cut in…on) จากนั้น ขันน็อตที่สปริงตัวเล็กเพื่อให้ปั้มตัด(cut out…off) ขันน็อตเข้าจะเพิ่มแรงดัน คายน็อตออกจะลดแรงดัน ควรมีวาล์วเปิดปิดน้ำอยู่ไกล้ๆสวิทซ์ปั้มน้ำ เพื่อว่าขณะปรับตั้งสวิตท์ปั้มน้ำ เมื่อเปิดปั้มน้ำแล้วลองปิดวาล์ว ปั้มน้ำไม่ตัดเป็นเวลานานเกินไป(ควรจะตัดในทันทีหรือ 5-30 วินาที ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความยาวท่อที่จะมีปริมาณน้ำและปริมาณอากาศให้อัดได้ด้วย) จะได้เปิดวาล์วระบายน้ำได้ทัน คือเมื่อเปิดปั้มน้ำแล้วปิดวาล์ว น้ำจะไม่มีที่ไป หากสวิทซ์แรงดันไม่ตัดในเวลาอันควร ปั้มน้ำอาจจะหยุดเดินและไหม้ได้ หากเป็นปั้มน้ำบาดาลให้ติดตั้งมาตรวัดกระแสไฟ(แอมป์มิเตอร์  …. A ) เพื่อจะได้รู้การทำงานของปั้มน้ำ  คือถ้าปั้มทำงานจะมีกระแสไฟไหลผ่าน  เข็มมาตรวัดจะขึ้น  ถ้าปั้มตัด เข็มมาตรวัดจะชี้ที่เลข  0 
คำเตือน:  การทำงานเกี่ยวกับไฟฟ้าต้องมีความปลอดภัยและใช้ความระมัดระวัง